“ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” สำนักงาน กสทช.-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สำนักพิมพ์มติชน ร่วมจัดงานเสวนาและนิทรรศการแสดง Use Case เทคโนโลยี 5G

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักพิมพ์มติชน จัดงานเสวนาและนิทรรศการแสดง Use Case ในหัวข้อ “ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” โดยภายในงานมีการแสดง Use Case ต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นจากทั้งทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอื่นที่ทำงานวิจัยร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีผลงานต่างๆ จาก Operator ทั้ง ทรู เอไอเอส ดีแทค 3BB ที่มาร่วมจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ ณ อาคารมหิตลาธิเบศร ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้คนหลายวงการ

งานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย นำโดย กระทรวงดีอี หรือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และสำนักพิมพ์มติชน โดยมี นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดีอี พร้อมด้วย พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกดปุ่มเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการพัฒนางานใหม่และงานนวัตกรรม คนในวงการไอที นิสิตนักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ไม่กี่ปีที่ผ่านมาคำศัพท์ด้านเทคโนโลยีที่เคยลึกลับสูงส่ง ทั้ง IoTs, AI, 5G กลายเป็นคำศัพท์สามัญประจำบ้าน ทุกคนเริ่มเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เริ่มเล่นมือถือ คนสูงอายุที่เล่นไลน์ สะท้อนว่าเทคโนโลยีใกล้ตัวเข้ามาทุกที การเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว มติชนได้รับการอนุเคราะห์จากกระทรวงดีอี กสทช. และจุฬาฯ ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ที่ผ่านมามติชนได้จัดสัมมนาหลายครั้งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเตือนบอกกล่าวคนในสังคมว่าการเปลี่ยนแปลงมาเคาะประตูถึงหน้าบ้านแล้ว มาถึงห้องนั่งเล่นของทุกคน โดยการสัมมนาครั้งนี้ขอขอบคุณผู้สนับสนุนที่ได้นำตัวอย่าง Use Case มานำเสนอด้วย”

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดีอี เปรียบ 5G เป็นดั่งอาวุธที่ช่วยให้ประเทศเล็กๆ พัฒนาอย่างก้าวกระโดด สำหรับไทยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนกระทรวงดีอีได้เร่งผลักดันสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ โดยอาศัย 5G ขณะเดียวกันยังแนะนำให้แบ่งปันโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เสาสัญญาณให้มีจำนวนเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ชี้ให้เห็นว่าโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากสัญญาณ 5G และได้ย้ำเตือนว่า หากเรายังปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีพร้อมรับมืออย่างรวดเร็ว ไทยจะก้าวเป็นที่ 1 ของอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ส่วน เฉาบิน หยาง ประธานบริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์เครือข่าย 5G ของหัวเว่ยเทคโนโลยี ประเทศไทย กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า หัวเว่ยสามารถพัฒนา 5G ให้เข้าถึงประชากรทั่วโลกได้ภายใน 3 ปี ซึ่งประโยชน์ของการพัฒนาระบบคือช่วยประหยัดค่าติดตั้งอุปกรณ์กว่า 35 เปอร์เซ็นต์ และยังรองรับการเคลื่อนที่ของสัญญาณได้เป็นอย่างดี ขณะที่แองกัส หยู ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยี สมาคมจีเอสเอ็ม เอเซีย สำนักงานฮ่องกง เผยว่า 5G จะเกิดขึ้นได้เมื่อเทคโนโลยีพร้อม นโยบายชัดเจน และตลาดเหมาะสม โดย 5G จะช่วยพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI หรือ IoTs หรือ AR รวมทั้งการพัฒนาอื่นๆ ที่ยังคาดการณ์ไม่ได้อีกจำนวนมาก

ด้าน Operators ทั้ง 4 ค่ายใหญ่ของประเทศไทย ได้แก่ AIS TRUE dtac 3BB ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เริ่มจากนายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS กล่าวถึงลักษณะเด่นของระบบ 5G ด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม และ AIS ยังสนับสนุน 5G ในด้านการศึกษา นักคิด นักประดิษฐ์ รวมแล้วกว่า 1,000 ราย นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้ Smart Meter, Smart Life รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับซึ่งเป็นผลงานร่วมพัฒนาระหว่าง คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับ AIS มาจัดแสดงด้วย

จากนั้น นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวว่าแม้ทรูจะเป็นเอกชนรายที่ 3 ที่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศ แต่ตั้งเป้าผลักดันให้เกิด 5G ขึ้นโดยเร็ว มั่นใจว่าระบบดังกล่าวจะมีประโยชน์ในเรื่อง Use Case ต่างๆ ซึ่งควรพัฒนาระบบเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการผลิต เพิ่มมูลค่าให้สินค้าอย่างมหาศาล

ทางด้าน dtac โดย อเล็กซานดร้า ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่าเทคโนโลยี 5G ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ดีแทคเองได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือ กสท โทรคมนาคม หรือ CAT และ TOT ในการให้บริการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ปิดท้ายด้วย นายยอดชาย อัศวธงชัย หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ TTT หรือ 3BB ยืนยันพร้อมผลักดัน 5G เต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ระบบ 5G จะช่วยเอื้อระบบ IoTs เพื่อมุ่งสู่การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ระบบสุขภาพ บันเทิง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ในช่วงท้ายของงานเป็นเวทีเสวนา “ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” มีนายสืบศักดิ์ สืบภักดี รองเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ โดยผู้ร่วมเวทีประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้แก่ แพทย์หญิงนิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือสมองแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้กล่าวถึงประโยชน์ทางการแพทย์ที่เกิดจากระบบ 5G ในการสนับสนุน Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลให้ยอดเยี่ยมกว่าปัจจุบัน ทั้งยังได้ริเริ่มนำ AI มาช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วย โดยช่วงหนึ่งได้กล่าวว่า “ถ้าเรามี 5G จะทำให้เข้าถึงการดูแลรักษาคนไข้ได้มากขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตและพิการ อย่างไรก็ตาม ด้วยการใช้ข้อมูลต่างๆ เป็นความลับของคนไข้และต้องได้รับการยินยอม จึงต้องควบคุมดูแลข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมเพื่อใช้ทางการแพทย์”

ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่องานทางการแพทย์ ได้เล่าถึงความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และ กสทช. ในการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาฯ เป็นเวลา 2 ปี เพื่อฝึกหุ่นยนต์สำหรับใช้ประโยชน์ฟื้นฟูผู้ป่วย โดยจะบันทึกข้อมูลการฝึกปฏิบัติของผู้ป่วยแบบ Real time นอกจากนี้ยังมีเรื่องระบบควบคุมการทำงาน การเชื่อมต่อสัญญาณของอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม หากมีการพัฒนาร่วมกับ 5G ได้ก็จะช่วยให้การทำงานในอนาคตเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ตัวแทน CPF นายเฉลิม ดวงยี่หวา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบงานพูดถึง 5G ว่า “5G จะช่วยให้ CPF สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสูงขึ้น” พร้อมเน้นย้ำขอให้พิจารณาค่าธรรมเนียมอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนของผู้ใช้งาน ส่วนนายจุลพงษ์ ลิมปสุธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวปิดท้ายโดยเล่าถึงการนำ IT มาพัฒนาระบบไปรษณีย์ให้เปลี่ยนโฉมการทำงานได้อย่างคาดไม่ถึง

ที่มา…มติชน