จุฬาฯ จับมือ กสทช. จัดงานแสดงผลงานการทดลอง/ทดสอบ Use cases“Chula 5G for REAL”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานแสดงผลงานการทดลอง/ทดสอบ Use cases ต่างๆ เพื่อไปใช้งานจริง บนเครือข่าย 5G ภายใต้แนวคิด “5G for REAL” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 5G AI/IOT Innovation Center ชั้น M อาคาร จุฬาพัฒน์ 14 โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย พร้อมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมชั้นนำ โดยโครงการดังกล่าว ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ กสทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อจัดตั้งศูนย์ทดลอง/ทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงาน Use cases ต่างๆ ที่ได้นำมาแสดงในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการทดลอง/ทดสอบการใช้งานอุปกรณ์การสื่อสารบนเครือข่าย 5G ทั้งนี้ นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมชั้นนำได้ร่วมกันจัดทำแพลตฟอร์มเปิด สำหรับทดสอบ/ทดลอง วิจัยเทคโนโลยี การใช้งานจริง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี 5 G

นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ดำเนินการขออนุญาตจาก กสทช. เพื่อเป็นผู้ประสานงานพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Sandbox) ครอบคลุมพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้คลื่นความถี่5G ย่านต่างๆ เพื่อให้มีการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการทดสอบการรบกวนกันหรือการร่วมใช้คลื่นความถี่ระหว่างเทคโนโลยี 4G และ 5G เป็นต้น มีกำหนดระยะเวลาอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 10 ธันวาคม 2567

สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงผลงาน ประกอบด้วย คณาจารย์และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ / สถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลา-นครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.) / ผู้บริหารจากผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคม และผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) / บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) / บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด / บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด / และบริษัท โนเกีย ประเทศไทย จำกัด

โครงการวิจัยทั้งหมดประกอบด้วย โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ที่สามารถทดสอบอุปกรณ์ไร้สาย และโครงข่ายของผู้ให้บริการ และงานวิจัยอื่นๆ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่

ด้าน healthcare จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

  • โครงการส่งข้อมูลภาพการตรวจโรคตาทางไกลผ่านระบบสื่อสารแบบไร้สายเพื่อการผ่าตัด
  • โครงการพัฒนาการสื่อสารและส่งถ่ายข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในโรงพยาบาล

ด้าน smart living และ connected society จำนวน 8 โครงการ ได้แก่

  • โครงการการพัฒนาและควบคุมหุ่นยนต์บริการผ่านโครงข่าย 5G
  • โครงการจัดสร้างระบบเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพฝุ่นละอองติดตั้งบน smart pole และรถ pop bus รวมถึงการติดตั้งและทดสอบระบบ CCTV บนรถประจำทาง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้งานของผู้โดยสาร CU Pop Bus
  • โครงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือนในพื้นที่มหาวิทยาลัยบนเครือข่าย 5G
  • โครงการพัฒนาต้นแบบยานยนต์อัตโนมัติ และการเคลื่อนย้ายรถระหว่างจุดจอด
  • โครงการติดตั้งและทดสอบระบบการใช้งานเสาไฟยุคหน้าบนเทคโนโลยี 5G
  • โครงการสร้างมิเตอร์อัจฉริยะเฟสเดียวโดยใช้เทคโนโลยี NB-IoT, LoRa และ 5G
  • โครงการติดตั้งระบบควบคุมไฟถนนอัจฉริยะ
  • โครงการวิเคราะห์และประมวลภาพ VDO แบบเวลาจริงด้วย cloud computing

ประเภทอื่นๆ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

  • โครงการ PolluSmartCell การวิจัยที่อาศัยปรากฏการณ์ทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในโครงข่ายการสื่อสารเพื่อประเมินการเกิด Temperature Inversion ในชั้นบรรยากาศ
  • โครงการอบรมให้ความรู้ความชำนาญในการทดลอง/ทดสอบระบบเครือข่าย 5G และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศ

นอกจากการแสดงผลงานต่างๆ ผ่านทาง VTR และบูธแสดงผลงานแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานเด่นๆ ด้วยการบรรยายบนเวที อาทิ การบรรยายส่งตรง real-time ผ่าน zoom มาจาก Ministry of Internal Affairs and Communications (MIC) ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ “5G Frequency and Network Regulation Policy in Japan” / และจาก NTT DOCOMO ภายใต้หัวข้อ “5G cross border” use case connecting Japan and Thailand / และการบรรยายภายใต้หัวข้อ Tele-dentistry in aging world โดย ทันตแพทย์หญิง ดร.อรุณี ลายธีระพงศ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ / การตรวจร่างกายด้วยเทคโนโลยี AI ผ่านบริการแพทย์ทางไกล โดยนพ.ดร.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทย / Autonomous vehicles โดยผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ / และ Massively Interactive Online Group Participation โดยผศ.ดร.วีระ เหมืองสิน ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะเห็นได้ว่าการจัดงานในวันนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ เพื่อพัฒนาให้เป็นบริการนำร่อง และนำเสนอบริการดังกล่าวต่อสาธารณะชน เป็นประโยชน์ต่อเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ ท่านสามารถชมการแสดงผลงาน 5G ย้อนหลังได้ทาง Facebook Fan page: CHULA 5G https://www.facebook.com/Chula5G/videos/299952717908314/ หรือติดต่อเราได้ที่ www.5G.chula.ac.th โทร. 02 218 6496