5G Test Center

โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G

(ที่มา:  Qualcomm white paper: Making 5G NR a reality)

เทคโนโลยี 5G เป็นนวัตกรรมระบบสื่อสารไร้สายซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการใช้งานคลื่นในย่านความถี่สูงเรียกว่ามิลลิมิเตอร์เวฟ (mmWave) ทั้งนี้ เทคโนโลยี 5G ทำให้เกิดการประยุกต์ใช้งานและบริการใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ มากมาย ศูนย์ทดสอบ 5G แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายใต้โครงการทดสอบการให้บริการโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการวัดทดสอบสัญญาณเครือข่ายแลอุปกรณ์ใช้งานระบบ 5G แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ให้บริการเครือข่าย (Network Operator) ผู้ผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์ (Vendor) หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในประเทศไทย รวมถึงการวิจัยพัฒนาต่อยอดในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ห้องปฏิบัติการทดสอบอุปกรณ์ระบบ 5G

  • สำหรับให้บริการวัดทดสอบอุปกรณ์ที่รองรับการสื่อสารไร้สายด้วยเทคโนโลยีระบบ 5G เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกระบวนการกำกับดูแล และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการสื่อสารของอุปกรณ์ 5G/IoT ในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งพัฒนาต่อยอดสำหรับให้บริการทดสอบอุปกรณ์ 5G ต่อสาธารณะต่อไปในอนาคต
  • ชุดอุปกรณ์เครื่องมือวัดจะจำลองตัวเองเป็นสถานีฐาน (Base Station Simulation) รับส่งข้อมูลเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยีระบบ 5G กับอุปกรณ์ที่ทำการทดสอบ โดยสามารถทดสอบทางด้านความถี่วิทยุ (Radio Frequency : RF) และ Beamforming การทดสอบจะวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ อ้างอิงตามมาตรฐาน 5G NR ของ 3GPP โดยสามารถรองรับการทดสอบระบบ 5G ทั้งในรูปแบบ Standalone (SA) และ Non-standalone (NSA)

การวัดทดสอบคุณภาพสัญญาณเครือข่าย 5G

การวัดทดสอบคุณภาพสัญญาณเครือข่ายที่ทดลองใช้งานและให้บริการในพื้นที่ทดสอบในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แสดงด้วยพื้นที่แรเงาในรูป) โดยวิธีการ Drive Test โดยจะทำการวัดทดสอบความเข้มของสัญญาณและพารามิเตอร์พื้นฐานต่าง ๆ สำหรับการรับประกันคุณภาพการให้บริการ (Quality-of-Service : QoS) ของเครือข่าย 5G เปรียบเทียบกับมาตรฐาน 5G NR ที่กำหนดโดย 3GPP รวมทั้งเปรียบเทียบค่า Path loss ที่ได้จากการวัดทดสอบกับผลจากการจำลองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และผลการคำนวณโดยใช้แบบจำลองต่าง ๆ และนำผลการทดสอบที่ได้มาวิเคราะห์และประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ กสทช. เพื่อใช้ประกอบในการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการให้บริการเครือข่าย 5G ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมต่อไป รวมทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายที่ร่วมทดสอบสามารถใช้ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของเครือข่ายในการให้บริการเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต

คณะผู้วิจัย

  • ผศ. ดร.ภาณุวัฒน์ จันทร์ภักดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผศ. ดร.วิทวัส สิฏฐกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • รศ. ดร.ลัญฉกร วุฒิสิทธิกุลกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผศ. ดร.พสุ แก้วปลั่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อ. ธีรพงษ์ ประทุมศิริ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร. ศริญญา ปะสะกวี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
  • ดร. ชัยวัฒน์ เจษฎาจินต์ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • มีห้องปฏิบัติการสำหรับให้บริการทดสอบอุปกรณ์ 5G สำหรับสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ 5G/IoT และให้บริการทดสอบอุปกรณ์ 5G ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
  • มีชุดอุปกรณ์ทดสอบวัดคุณภาพสัญญาณของเครือข่าย 5G เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • เพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติการไฟฟ้าสื่อสาร เพื่อให้นิสิตมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบ 5G

หน่วยงานที่มีความร่วมมือในโครงการ