เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งศูนย์ 5G AI / IoT Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G และทำการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5G เตรียมความพร้อมและรองรับการให้บริการโทรคมนาคม โดยมีพลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช. และ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการ Chula Transformations และประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการทดลองทดสอบโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้บริหารระดับสูงของ Operator และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ 5G AI / IoT Innovation Center นี้ เป็นสิ่งยืนยันความมุ่งมั่นในการสนับสนุนกันและกันหลายภาคส่วน ทั้งในภาคการศึกษาที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น สามารถสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ และพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้สามารถเกิดขึ้นจริงในปี 2563 และสามารถกระตุ้นให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันและร่วมมือไปพร้อมกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และองค์ความรู้ในการกำกับดูแลและนโยบายส่งเสริมให้เกิดบริการ 5G ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้แก่ประเทศ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะถือเป็นต้นแบบของเมืองแห่งอนาคตที่พร้อมไปด้วยเทคโนโลยีและคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ผลจากการทดสอบทดลอง และการวิจัยและพัฒนาในโครงการนี้จะสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ตอบสนองนโยบาย Digital Transformation ของประเทศต่อไป
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า หลังจากสำนักงาน กสทช. ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ 5G AI/IoT Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G ที่มีการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5G โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการอบรมให้ความรู้หรือศูนย์สาธิตการดูงานด้าน 5G AI / IoT ในระดับนานาชาติ ตามแนวนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผลักดันประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5G
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในระยะแรกจะมีการตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการติดตั้งสถานีฐาน ณ อาคารวิศวฯ 100 ปี เพื่อรองรับการให้บริการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้ความถี่ย่าน 26.5 – 27.5 GHz รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ 5G AI / IoT InnovationCenter ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งในระยะถัดไปจะมีการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายศูนย์กลาง ที่ชั้น 9 อาคารวิศวฯ100 ปี โดยติดตั้งสถานีฐานในระยะที่ 2 จะให้ครอบคลุมพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด โดยที่สำนักงาน กสทช.จะอำนวยความสะดวกในการนำเข้าอุปกรณ์และการอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับทดลองทดสอบทั้งนี้ ตัวอย่างการทดลองทดสอบผ่านการใช้เทคโนโลยี 5G ได้แก่ การพัฒนาการขนส่งด้วยระบบ 5G อาทิ การพัฒนาต้นแบบรถยนต์ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ (Autonomous Car – CU TOYOTA Ha:mo) ติดตั้งกล้องไร้สายภายในและภายนอกรถบัส ติดตั้งเซนเซอร์วัดสภาพแวดล้อม (Smart CU – PoP Bus) เป็นต้น Smart Hospital andTelehealth และการทดสอบระบบการใช้งานเสาอัจฉริยะยุคหน้า (Smart Pole) “ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมการให้บริการโทรคมนาคม เพื่อเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งและรองรับการเปลี่ยนแปลงในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เทคโนโลยี 5G ในอนาคต ผมเชื่อว่าเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นการรักษาพยาบาลทางไกล หรือ Telehealth ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนได้” นายฐากร กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมคณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายในการวางแผนพัฒนาโครงข่ายและรูปแบบบริการต่าง ๆ พร้อมแล้ว นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมมือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ บริษัทสตาร์ทอัพและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศน์ของการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการ 5G ของประเทศ